เชื้อราในสุนัขและแมว (Dermatophytosis)

เกิดจากเชื้อ
Microsporum canis, Microsporum gypseum, Microsporum persicolor หรือ Trichophyton spp. ซึ่งพบในแมวได้บ่อยกว่าสุนัขโดยเฉพาะในลูกสัตว์ แม่ตั้งท้องให้นมอายุเยอะ สัตว์ป่วยภูมิคุ้มกันตก
ได้รับยากดภูมิเป็นระยะเวลานานหรือเป็นสายพันธุ์เสี่ยง เช่น แมวเปอร์เซียเป็นต้น
ทำให้พบรอยโรคบริเวณผิวหนัง เส้นขน
และเล็บแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ
ในสุนัขมักพบขนร่วงลักษณะเป็นวงมีขอบเขตชัดเจน ผิวหนังแดง มีสะเก็ด รูขุมขนอักเสบ มีเลือดออก
บางรายอาจพบผิวหนังหนานูน ส่วนในแมวมักพบขนร่วงเป็นวงเป็นปื้น หรือทั่วตัว ผิวหนังแดง
มีสะเก็ดรังแค ขนเปราะหักง่าย หรืออาจไม่พบรอยโรคใด ๆ บนผิวหนังและเส้นขน(แมวพาหะ)
การวินิจฉัย อาศัยการส่องไฟ (wood’s lamp) การตรวจเซลล์ (cytology)
การตรวจเส้นขน (trichogram) และการเพาะเชื้อรา (dermatophyte culture) ซึ่งเป็นวิธีการวินิจฉัยที่ดีและแม่นยำมากที่สุด
การป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นเชื้อรา
หมั่นตรวจสุขภาพเข้ารับวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันปรสิตภายนอกเช่น เห็บ หมัด เหา ไร และพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
การรักษา ให้ยากินต้านเชื้อราร่วมกับการรักษาเฉพาะที่ เช่น อาบน้ำด้วยแชมพูยา
ตัดขน ทายาหรือพ่นสเปรย์ แต่หากสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเครียดง่ายให้เน้นการป้อนยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าผลเพาะเชื้อราจะเป็นลบ
2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและของใช้สัตว์เลี้ยงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮโปรคลอไรท์
เพื่อกำจัดสปอร์เชื้อราที่อาจปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการรักษาสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้สัตว์เลี้ยงภูมิตกแล้วติดเชื้อราตามมา
นอกจากนี้เจ้าของยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นเชื้อราตลอดช่วงเวลาในการรักษาและควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพิ่มเติมหากพบอาการคันผิวหนังมีสะเก็ดหรือรอยแดงเป็นวงเกิดขึ้น
สิ่งสำคัญ
ก่อนเริ่มการรักษาเชื้อรา “สัตว์เลี้ยงควรได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าเป็นเชื้อราจริง”
และไม่ควรซื้อยามาใช้เองเนื่องจากยาต้านเชื้อราเป็นยาที่มีผลกับตับ
ควรใช้ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น